ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดผาณิตาราม (Take a meditation course at Wat Phanitaram)

Posted: October 21, 2008 in Merit

 

บทนำ

รู้จักคำว่า “บุญ” ไหม? เมื่อถามตัวเองด้วยคำถามนี้แล้ว ไม่กล้าตอบเลยว่า “รู้จัก” เพราะคำว่ารู้จัก ดูเหมือนจะมีความหมายที่ใกล้ชิดเกินไปซักนิด อย่างตัวเองนี้คงตอบได้แค่ “จำได้” เสียมากกว่า… จำได้ว่าร่ำเรียนมาเรื่องบาปบุญคุณโทษ จำได้ว่าสิ่งใดกระทำแล้วเป็นบาปหรือเป็นบุญ แต่ก็แค่จำได้เท่านั้น ไม่ค่อยจะได้กระทำในสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลบุญสักเท่าไหร่ จึงเกิดเป็นคำถามต่อไปว่าแล้วตั้งแต่เล็กจนโต ฉันเคยทำบุญด้วยความตั้งใจจริงสักกี่หนกันนะ ตื่นแต่เช้ามาตักบาตร วันหยุดเข้าวัดฟังธรรม เข้าร่วมเทศกาลงานบุญต่างๆ ฯลฯ เป็นกิจกรรมที่แสนจะลางเลือนจนแทบจำไม่ได้เสียแล้ว

สมัยยังเด็ก บุพการีอบรมสอนสั่งอยู่เสมอว่าก่อนนอนให้สวดมนต์ ตั้งนะโม 3 จบ ซึ่งก็ปฏิบัติตามเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่แล้วเมื่อไหร่กันนะ สิ่งที่ทำเป็นประจำนั้นมันก็จางหายไป ทุกวันนี้เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ล้มตัวลงนอนโดยไม่เคยคิดจะสวดมนต์เลยสักครั้ง แต่ครั้นวันปีใหม่ วันตรุษจีน บรรดาเพื่อนฝูงรวมทั้งตัวเองต่างก็ชักชวนกันไปทำบุญไหว้พระเก้าวัด ซึ่งหากทบทวนดูให้ดีแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า นี่เราตั้งใจไปทำบุญหรือตั้งใจไปเที่ยวกับเพื่อนกันแน่นะ มันคงจะทั้งสองอย่างผสมปนเปกันไป

ด้วยเหตุที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับ “บุญ” มากนัก จึงตั้งใจอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งจะต้องหาเวลาไปปฏิบัติวิปัสสนาให้ได้ โดยที่ในตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “วิปัสสนา” รู้แต่ว่าเป็นการไปเข้าวัด นุ่งขาวห่มขาว ฟังธรรม นั่งสมาธิ… มันคืออะไรกันนะ? แล้วมันดียังไง? แต่ไม่รู้สิ..ก็ฉันรู้สึกอยากจะทำ

แต่กระนั้นแหละ คนที่ไม่ใคร่จะไปทำบุญกับใครเขา จะรู้ได้อย่างไรว่าการไปทำสิ่งที่เขาเรียกกันว่า วิปัสสนา เนี่ย ต้องเริ่มต้นตรงไหนก่อนล่ะ วอร์คอินเข้าวัดไหนก็ได้อย่างนั้นเหรอ หรือว่าต้องติดต่อจองล่วงหน้าเมื่อถึงเวลาก็ไปเช็คอินเหมือนรีสอร์ท ไปคนเดียวได้ไหม หรือว่าต้องไปกันเป็นหมู่คณะ ฯลฯ โอ๊ย ! ปัญหาชักเยอะ คนรอบข้างก็ไม่เห็นมีใครสนใจไปกับเรา เฮ่อ พักโครงการไว้ก่อนดีกว่า ผลัดวันประกันพรุ่งในการเข้าหาบุญแบบนี้ไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งวันหนึ่ง… วันที่ฉันจะได้รู้จักกับ “บุญ” ก็มาถึง เมื่อเพื่อนสาวสมัยที่เคยทำงานร่วมกันในบริษัทแห่งหนึ่ง เกิดมีใจเป็นกุศลมาชักชวนคนที่ไม่ค่อยจะใส่ใจเรื่องพระธรรมสักเท่าไหร่อย่างฉันไปทำสิ่งที่เรียกว่า “วิปัสสนา”… จึงรีบตอบตกลงคำชวนไปในทันทีเพราะรอเวลานี้มานานแล้ว ในที่สุดก็มีผู้นำพาแนะนำให้ฉันได้รู้จักกับการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเป็นทางการแล้ว


สถานที่ที่พวกเราจะไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกันในครั้งนี้ คือ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม จ. ฉะเชิงเทรา โดยเลือกหลักสูตรพื้นฐานการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในระยะเวลา 3 วัน ซึ่งยึดหลักการตามโครงการอบรมพัฒนาจิตฯ ของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย หากใครเคยได้มีโอกาสไปปฏิบัติวิปัสสนาฯ ที่นี่แล้ว จะเข้าใจดีว่าต้องอาศัยความว่องไวในการจองหลักสูตรมากแค่ไหน การจองหลักสูตรจะต้องทำล่วงหน้าถึง 3 เดือน โดยการสมัครนั้นสามารถสมัครได้ทั้งการส่งไปรษณีย์และสมัครออนไลน์ทางเว็บไซด์ (www.kondee.com) พวกเราเลือกที่จะสมัครผ่านทางเว็บไซด์เพราะคิดว่าน่าจะสะดวกกว่า ซึ่งทางเว็บไซด์จะเปิดรับสมัครตั้งแต่เวลา 00:01 น. ของวันที่ที่กำหนดไว้ โดยวันจองสำหรับคอร์สของเรากำหนดไว้วันที่ 1 มิถุนายน 2551

เมื่อคืนวันกำหนดรับสมัครมาถึงก็ไม่เป็นอันทำอะไร มัวตื่นเต้นกับการนั่งเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ กด Refresh หน้าเว็บทุกวินาทีตั้งแต่ยังไม่เที่ยงคืน ทันทีที่เว็บเปิดให้เข้าจองหลักสูตรได้ ยิ่งตื่นเต้นจนลนลานรีบจองให้ตัวเองและเพื่อนชนิดลุ้นกันตัวโก่งว่าจะทันหรือไม่ แต่แล้วในที่สุด!! ก็สามารถจองหลักสูตรให้ทั้งตัวเองและเพื่อนได้สำเร็จ… อ่า~ ฉันมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับ “บุญ” บ้างแล้ว

001_1.jpg picture by jade_ornament

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนก่อนจะถึงวันเข้ารับการอบรมปฏิบัติวิปัสสนาฯ มักเกิดคำถามขึ้นในใจอยู่เสมอว่า วิปัสสนา คืออะไรและดีอย่างไร คนที่ไม่เคยซึ้งในรสพระธรรมสักเท่าไหร่อย่างฉันจะเข้าใจในการปฏิบัตินี้จริงๆ เหรอ ยิ่งได้ยินว่าตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการอบรมต้องสำรวมงดสนทนากับใครโดยเด็ดขาด 24 ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 3 วัน แล้วคนที่พูดมากช่างเจรจาอย่างฉันจะอดทนได้หรือไง นี่เราจะสติแตกหนีกลับบ้านก่อนหรือเปล่านะ และอีกนานาคำถามที่ผุดขึ้นมาเป็นข้อสงสัยอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามข้อคำถามทั้งหลายก็ไม่ได้ฉุดรั้งให้เลิกล้มความตั้งใจลงได้ แต่มันกลับกลายเป็นข้อกังขาที่ยิ่งผลักดันให้ฉันอยากจะเข้าไปหาคำตอบให้ได้ต่างหาก

จนกระทั่งเช้าวันศุกร์ที่ 26 กันยายน 2551 มาถึง… พวกเราเดินทางมาถึงสถานปฎิบัติธรรม ณ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม จ.ฉะเชิงเทรา ในเวลา 10:00 น. โดยประมาณ ภาพที่เห็นตรงหน้าเมื่อย่างเท้าเข้าสู่อาคารรายงานตัวก็คือ พื้นไม้ที่ขัดเงาอย่างสวยงาม เคาน์เตอร์ลงทะเบียนที่แลดูเหมือนเคาน์เตอร์ต้อนรับแขกผู้มาพักของรีสอร์ท เพราะการตกแต่งที่สวยงาม เจ้าหน้าที่ใส่สูทคอยตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ด้วยท่าทางที่มีมารยาทพูดจาไพเราะเสมือนพนักงานต้อนรับในรีสอร์ทยังไงยังงั้น ยิ่งได้เหลือบไปเห็นบริเวณรับประทานอาหารที่มีภาชนะสแตนเลสหรูหราเงางามเหมือนอย่างที่จัดเลี้ยงอาหารบุฟเฟ่ต์ในโรงแรม ในใจก็เริ่มมีจิตอกุศลผุดขึ้นมาทันใด เพราะวาดมโนภาพไว้ว่าการมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต้องสมถะ นั่งสมาธิตรงกลางลานโล่งใต้ร่มไม้ กางมุ้งนอนเรียงกันบนศาลาวัด แต่ที่นี่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่หรูหราขนาดนี้มันตรงกันข้ามกับที่นึกคิดเอาไว้ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นห้องปฏิบัติธรรมที่หรูหรา มีโคมระย้า (Chandelier) ประดับอย่างสวยงาม ห้องนอนที่มีฟูกพร้อมผ้าห่มจัดเตรียมไว้อย่างดี ห้องน้ำติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น รวมทั้งมีเครื่องปรับอากาศทั้งในห้องนอนที่พักและห้องปฏิบัติฯ อย่างไรก็ตามแม้ในใจจะมีจิตอกุศลอยู่ แต่ก็แอบรู้สึกดีใจไม่น้อยที่จะได้กินอยู่อย่างสบายไม่ต้องลำบากอย่างที่คิดจินตนาการไว้ในตอนแรก …อย่างนี้แหละหนอ ก็คนมันยังไม่ละซึ่งกิเลส…

002.jpg picture by jade_ornament

หลังจากลงทะเบียนเสร็จ เจ้าหน้าที่มอบบัตรประจำตัวให้โดยชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวบนบัตร ซึ่งเป็นหมายเลขเดียวกันกับแก้วน้ำประจำตัวของแต่ละคน รวมถึงมีหมายเลขอีกชุดหนึ่งระบุเลขที่เตียงนอนของแต่ละคนไว้ นั่นเป็นเหตุให้เราสองคนต้องแยกกันนอนคนละที่ แม้จะแอบเซ็งอยู่บ้างแต่ถึงอย่างไรระหว่างปฏิบัติฯ ที่นี่ก็มีกฎห้ามสนทนากันอยู่แล้วนี่นะ ซึ่งในทีแรกก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมจะต้องบังคับไม่ให้พูดคุยกันด้วยล่ะ มันเกี่ยวอะไรกับการทำบุญงั้นเหรอ?

เมื่อเก็บสัมภาระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมปฎิบัติทุกคนต้องลงมาพร้อมเพรียงกันที่ห้องปฏิบัติในเวลา 10:30 น. ซึ่งวิทยากรชี้แจงว่าทุกครั้งที่กลับเข้ามาในห้องปฎิบัติไม่จำเป็นต้องประจำอาสนะเดิม แต่ระหว่างปฏิบัติ ณ ที่แห่งนี้ จิตอกุศลของตนเองก็แอบกร่นบ่นในใจถึงผู้ปฏิบัติบางคนที่เห็นเอาบัตรประจำตัวหนีบติดไว้บนอาสนะ บ้างก็ทิ้งเสื้อกันหนาวเอาไว้บนอาสนะโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ไปอยู่ไหน เดาเอาเองว่าอาจจะเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของจองอาสนะนั้นๆ เอาไว้เป็นแน่แท้

เมื่อเริ่มต้นปฐมนิเทศน์ วิทยากรทุกท่านได้แนะนำตัวและอธิบายถึงกฎระเบียบปฏิบัติ ณ สถานปฏิบัติแห่งนี้ รวมถึงกฎข้อสำคัญ คือ ต้องนำเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดรวมทั้งของมีค่าฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ โดยจะได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี วิทยากรย้ำเตือนอีกว่า หากพบเห็นลูกโยคีคนไหนแอบใช้โทรศัพท์มือถือจะต้องถูกเชิญให้กลับทันทีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง… สำหรับตัวเองแล้วไม่ใส่ใจกับการที่ต้องฝากโทรศัพท์มือถือหรือของมีค่าอะไรหรอก แต่สะดุดใจกับคำว่า “ลูกโยคี” มากกว่า ทำไมต้องเรียกผู้ปฏิบัติว่า ลูกโยคี มีความหมายว่าอะไร ฟังดูแปลกพิกล ใช้เรียกเพื่อให้ดูมีมนต์ขลังงั้นเหรอ… แต่แล้วก็ได้รับการอธิบายจากท่านวิทยากรว่า “ลูกโยคี” ในที่นี้เป็นคำเรียกผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในที่นี้หมายถึง “ผู้พากเพียรเพ่งเผากิเลส” เพื่อให้ตระหนักว่า ผู้ปฏิบัติฯ ทุกคนต้องอดทนและเพียรต่อการลดละซึ่งกิเลสให้ได้นั่นเอง

011.jpg picture by jade_ornament

และแล้วก็เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานอย่างแท้จริง การสนทนาระหว่างลูกโยคีทุกคนสิ้นสุดลง หน้าที่กิจการงานธุรกิจ สังคม ครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างในทางโลกต้องตัดทิ้งเสียให้หมด สิ่งที่ลูกโยคีต้องยึดถือปฏิบัติเป็นหน้าที่ต่อจากนี้ก็คือ การกำหนดจิตให้เป็นปัจจุบัน โดยการมีสติระลึกรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยการบริกรรมคำต่อท้ายอากัปกริยาต่างๆ ของเราด้วยคำว่า “หนอ” โดยกำหนดอริยาบทหลักต่างๆ เช่น เดินหนอ, ยืนหนอ, นั่งหนอ, นอนหนอ และกำหนดอริยาบทย่อย ได้แก่ เย็นหนอ, ร้อนหนอ, เหลียวหนอ, เคี้ยวหนอ, กลืนหนอ, (ได้)ยินหนอ, (ได้)กลิ่นหนอ รวมถึงเมื่อเผลอก็ให้กำหนดตามจริงว่า เผลอหนอ เป็นต้น

คำว่า “หนอ” ในที่นี้เป็นองค์บริกรรมที่ทำให้ระลึกถึงอาการของตนเอง บอกให้รู้ว่าอาการนั้นได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงไปแล้ว ทุกอาการที่ได้เกิดขึ้นนั้นได้จบลงและกลายเป็นอดีตในทันที ทุกสิ่งล้วนแต่เกิดแล้วดับไปทั้งสิ้น…. ในทางทฤษฎีนั้นฟังแล้วดูง่ายเสียเหลือเกิน แค่ดูว่าตัวเองกำลังทำอะไรก็พูดออกไปโดยต่อท้ายคำว่า หนอออออ ลากเสียงยาวๆ ใส่ลงไปเท่านั้นเอง… แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ง่ายเลย การที่ได้เข้ามาสู่โลกแห่งพระธรรมนี้ ทำให้รู้สึกตัวเองทันทีเลยว่า “เราเป็นคนไม่มีสติ”

“สติ” คือ การกำหนดอริยาบทและรับรู้ความรู้สึกทางประสาทสัมผัสทั้ง 6 ให้ทันปัจจุบันสม่ำเสมอ เป็นการมีสติรู้เท่าทันตัวเองตลอดเวลา แต่การรู้ให้เท่าทันตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในทางโลกที่เราใช้ชีวิตดำเนินอยู่ทุกวันนี้ ทุกคนล้วนทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ยิ่งทำหลายอย่างได้พร้อมกันมากเท่าไหร่ นั่นคือคนเก่งมีความสามารถ บริหารเวลาได้อย่างคุ้มค่ามีประโยชน์ แต่นั่นทำให้เราไม่มีสติ… เมื่อเข้ามาสู่โลกแห่งธรรมแล้ว แค่พยายามบริกรรม ยืนหนอ นั่งหนอ ไปตามอาการของตนเองเท่านั้นก็ทำไม่ได้ ความรู้สึกแย่เกิดขึ้นทันที เพราะทุกครั้งที่พยายามมีสติระลึกถึงอาการปัจจุบัน จิตกลับฟุ้งคิดถึงเรื่องนู่นนี่ขึ้นมาตลอดเวลา ต้องบริกรรมว่า คิดหนอออออ คิดหนอออออ จนจิตสงบแล้วจึงกลับเข้าสู่อาการปัจจุบันต่อ แต่เพียงแค่แว่บเดียวเท่านั้น จิตก็ฟุ้งไปเรื่องอื่นๆ อีกเสียแล้ว…. ยากหนอออออ ยากหนอออออ~

003.jpg picture by jade_ornament

เพียงแค่ด่านแรกของโลกพระธรรม ก็ทำให้เกิดอาการ เหนื่อยหนออออ ขึ้นมาแล้ว เมื่อต้องมาเจอกับการเดินจงกรม ที่เพิ่งจะมาเข้าใจในวันนี้นี่เองว่า การเดินจงกรม ไม่ใช่การเดินเป็นวงกลม และมั่นใจว่ามีคนอีกจำนวนมากที่เข้าใจว่า การเดินจงกรม คือ การเดินเยื้องย่างอย่างช้าๆ ซึ่งนอกจากบริกรรม ซ้ายหนอ ขวาหนอแล้ว แน่นอนเลยต้องเดินเป็นวงกลมด้วย !! ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว “การเดินจงกรม” เป็นการเดินด้วยสติ กำหนดอริยาบทในการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างปัจจุบัน และที่สำคัญเดินเป็นเส้นตรง ไม่ใช่วงกลม !! ในระยะไม่เกิน 3 เมตร กลับไปกลับมา

ซ้ายหนอออออ ขวาหนอออออ… ช่วงวันแรกเป็นวันที่จิตคิดอกุศลเป็นที่สุด นี่เรามาทำอะไรที่นี่ ทำไมทุกคนต้องทำท่าอะไรเหมือนกัน พร้อมกัน เอื้อนร้องหนอออออ หนอออออ ดูแล้วประหลาดสิ้นดี… วิทยากรเตือนว่าอย่าไปสนใจคนอื่นว่าเขาเดินกันอย่างไร ถูกหรือผิด ช้าหรือเร็ว ให้ระลึกถึงตัวเอง… แต่ตัวเราเองหนอดันเอาจิตไปผูกกับคนอื่นเข้าอย่างจัง แทนที่จะระลึกสติที่เท้าของตัวเอง กลับไปมองที่เท้าของคนข้างหน้าพร้อมกันบริกรรม ยกหนออออออ ไปพร้อมกับเท้าคนข้างหน้าที่กำลังยกขึ้นซะอย่างนั้น

จากนั้นก็พาลให้มองไปทั่วห้องพร้อมกับคิดว่า แล้วทำไมต้องชุดขาว ใส่สีอื่นหรือมีลวดลายจะผิดไหม จากที่เคยถามผู้คนมากมายถึงคำถามข้อนี้ มักได้คำตอบเหมือนกันหมดเพียงคำตอบเดียวนั่นก็คือ สีขาวคือความบริสุทธิ์และทำให้เกิดความเรียบร้อยสะอาดตา แต่ตัวเองปฏิเสธคำตอบนี้มาโดยตลอดเพราะคิดว่ามันต้องมีอะไรมากกว่าคำตอบนั้น มากกว่าแค่ความหมายของสี คำตอบว่า “สีขาวคือความบริสุทธิ์” มีไว้สำหรับคำถามว่า “สีขาวหมายถึงอะไร” ต่างหาก แต่ตัวเองไม่ได้ต้องการความหมายของสีและคิดว่ามันต้องมีคำอธิบายที่ทำให้เกิดความเข้าใจถึงที่มาที่ไปมากกว่านั้น และจะต้องหาคำตอบให้ได้

ยังไม่ทันคลายจากความล้าในการเดินจงกรมที่ต้องยกย่างอย่างช้าๆ ก็ต่อด้วย “การนั่งสมาธิ” ทันที การนั่งสมาธิพร้อมกับการระลึกรู้ให้ทันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยบริกรรมบอกกับตนเองว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ ยุบหนอออออ พองหนออออ หากมีความเย็นมากระทบ ก็บอกกับตัวเองว่า เย็นหนอ ได้ยินเสียงก็บอกให้ตนรู้ว่า ยินหนอ แล้วจึงกลับมากำหนดสติที่ท้อง พอง-ยุบ ต่อไปเรื่อยๆ สำหรับตนเองแล้วไม่สามารถกำหนดโดยบริกรรมว่า ยุบหนออออ พองหนออออ แบบยานเสียงช้าๆ ได้เลย เพราะจังหวะการหายใจมันช่วงสั้นจนกำหนดทันได้เพียงแค่คำว่า ยุบ พอง ยุบ พอง เท่านั้นเอง ซึ่งมารู้ในภายหลังว่า นั่นคือการที่เรายังคงมีลมหายใจหยาบอยู่ จึงมีช่วงจังหวะการหายใจที่สั้น หากฝึกฝนต่อไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถกำหนดการหายใจให้ละเอียดขึ้นได้.. ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ลมหายใจหยาบไม่ใช่เรื่องดี เพราะเป็นการหายใจในจังหวะที่สั้น ลมไม่ทั่วปอด อีกทั้งมักจะเป็นการหายใจเข้าสั้นกว่าลมหายใจออก ทำให้เกิดอาการจุกเสียด วิงเวียน และเหนื่อยง่ายได้ ฉะนั้นการนั่งสมาธิฝึกจิตและลมหายใจให้ละเอียด ถือเป็นผลดีทางกายภาพที่สามารถให้เหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกัน

004.jpg picture by jade_ornament

แล้วเวลาอาหารก็มาถึง อาหารตลอด 3 วันที่นี่เป็นมังสวิรัติ ลูกโยคีทุกคนต้องเรียงแถวเข้าคิวกันตักอาหาร…. อันที่จริงก็พอรู้มาก่อนอยู่บ้างแล้วว่าเวลารับประทานอาหารจะต้องค่อยๆ ตัก ค่อยๆ กิน ต่างจากเวลาใช้ชิวิตปกติ จึงตักข้าวมาแค่ทัพพีเดียวพร้อมกับกับข้าวอีกเพียงเล็กน้อย เพราะวิทยากรบอกว่าหากไม่อิ่มสามารถตักเติมได้… ในตอนนี้จิตก็เริ่มอกุศลขึ้นมาอีกครั้งว่ามันจะไปอิ่มท้องได้อย่างไรปกติทานข้าวตั้งหลายทัพพี แต่จะให้ตักเยอะกว่านี้ก็ไม่ได้เพราะเป็นคนทานข้าวช้าอย่างกับเต่า นี่ช้ากว่าเดิมอีกสงสัยจะแย่แน่ๆ…

หลังจากตักอาหารเสร็จเรียบร้อยก็หาที่นั่งรอให้ลูกโยคีทุกคนพร้อมเพรียงกัน วิทยากรจึงเริ่มแนะนำให้เราฝึกการ “พิจารณาอาหาร” เมื่อกลิ่นอาหารโชยมาแตะจมูก ให้บริกรรมว่า กลิ่นหนอ แต่ในใจแท้จริงตัวเองกลับบริกรรมว่า หอมหนอ, หิวแล้วหนอ, เมื่อไหร่จะได้กินหนอ… และก่อนจะตักอาหารขึ้นมารับประทานได้ วิทยากรจะนำสวดถวายข้าวพระพุทธตามด้วยตั้งจิตกล่าวคำขอบพระคุณแด่ผู้บริจาคและผู้บริการอาหารเหล่านี้ให้เหล่าลูกโยคีได้กินเพื่อบำรุงร่างกายให้สามารถปฎิบัติธรรมต่อไปได้ จากนั้นจึงกำหนดอริยาบทย่อย ยก(มือ)หนอ, ไปหนอ, จับหนอ, ดื่มหนอ, รสหนอ และอีกหลายๆ หนอ จนกระทั่งอาหารเข้าปากก็ยังต้องอมไว้ก่อนเพื่อรับรู้ว่า รสหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ.. โธ่! จิตเริ่มเป็นอกุศลอีกแล้วหนอ ก็มันช้าเสียเหลือเกิน

005.jpg picture by jade_ornament

ในวันแรกนี้ยอมรับอย่างไม่มีข้อโต้แย้งว่า บาปหนออออ~ เสียจริงๆ เพราะมักจะเกิดคำถาม และเกิดอกุศลจิตอยู่ตลอดว่า ทำไมต้องแบบนี้ ทำไมต้องแบบนั้น ทำแล้วได้อะไร เรามาทำอะไรที่นี่ ฯลฯ ไม่สามารถเจริญสติให้ระลึกถึงปัจจุบันตามทันอาการของร่างกายได้เลย เดินจงกรมก็เอาสติไปกำหนดรู้ที่ความเคลื่อนไหวของคนอื่นมากกว่าของตนเอง ครั้นในยามนั่งสมาธิก็เผลอจิตคิดฟุ้งซ่านออกไปนอกห้องปฏิบัติ รวมถึงง่วงและเผลอหลับสัปหงกอยู่ตลอดเวลา และเผลอมีจังหวะมุมอับหน่อยเป็นไม่ได้ มักชอบแอบสะกิดเรียกกระซิบกันกับเพื่อนทันที…

แต่เมื่อเข้าสู่วันที่สอง กลับต้องประหลาดใจกับตัวเอง อย่างแรกคือที่กังวลว่าเราจะตื่นเช้าได้หรือ เพราะต้องเข้าห้องปฏิบัติกันในเวลา 04:00 น. ทั้งที่ปกติหากเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์อยู่ที่บ้านแล้วล่ะก็ ถ้าเข็มสั้นไม่เลยเลขสิบสองก็อย่าหวังว่าจะได้ตื่นลุกจากเตียง แต่นี่กลับลุกตื่นขึ้นมาได้โดยไม่มีนาฬิกาปลุก แต่ก็คิดว่าคงจะเพราะความไม่คุ้นชินสถานที่ทำให้สะดุ้งตื่นง่ายเมื่อได้ยินเสียงคนลุกขยับกันบ้างแล้ว และแม้จะเป็นความจริงที่ว่าในเช้าวันที่สองหลังจากเข้าห้องปฏิบัติก็ยังคงรู้สึกหงุดหงิดเล็กน้อย เพราะงัวเงียจากการตื่นเช้าบวกกับเกิดอาการวิตกไปล่วงหน้าแล้วว่า นี่เพิ่งจะตีสี่เท่านั้นเองแล้วนี่จะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าจะหมดหนึ่งวันจากนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับต้องประหลาดใจกับตัวเองว่า อืม…ทำไมวันนี้จิตสงบจังนะ แม้จะไม่สามารถกำหนดรู้ทันปัจจุบันได้ทุกวินาที แต่ก็ทำได้ดีมากหากเทียบกับเมื่อวานนี้ เริ่มรู้สึกนิ่งและมีสติ เวลาในการนั่งสมาธิที่ยาวนานกว่าเมื่อวานกลับไม่เป็นปัญหา สามารถนั่งได้โดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ผ่านไป อาการง่วงยังคงมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงกับหลับไปอย่างเมื่อวันแรก ทำให้เกิดเป็นความตั้งใจที่จะพยายามเจริญสติให้ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก… และเมื่อถึงเวลาก่อนเข้านอน เช่นเดียวกับคืนวันแรก นั่นก็คือวิทยากรจะนิมนต์พระอาจารย์มาเทศนาธรรมและสนทนาธรรมกับเหล่าลูกโยคี ซึ่งทำให้ตนเองเกิดความเข้าใจและได้คำตอบให้กับคำถามหลายๆ อย่างที่เคยสงสัยไว้ ทำให้เข้าใจแล้วว่าเรามาที่นี่ทำไมและมาแล้วได้อะไร คิดว่านั่นคงเป็นเหตุให้ตัวเองเริ่มเปิดใจและเข้าใจในการปฎิบัติวิปัสสนานี้มากขึ้น…

006.jpg picture by jade_ornament

เมื่อเข้าสู่เช้าวันที่สามของการวิปัสสนากรรมฐานแม้ใจหนึ่งรู้สึกยินดีที่จะได้กลับสู่การดำเนินชีวิตปกติ แต่อีกใจหนึ่งกลับรู้สึกว่าเวลาเพียงสามวันสำหรับการเข้าฝึกอบรมพื้นฐานการวิปัสสนากรรมฐานนี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว แม้จะได้คำตอบในสิ่งที่เคยตั้งเป็นคำถามรวมถึงได้เข้าใจในทางธรรมมากขึ้น แต่มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ผลักดันให้รู้สึกว่าจะต้องแสวงหาโอกาสเพื่อจะได้เข้ามาสัมผัสกับโลกทางธรรมนี้ให้ได้อีกเป็นแน่… จากนั้นจึงเริ่มระลึกถึงสิ่งที่ได้รู้จากการวิปัสสนาในครั้งนี้ว่า…

– รู้ว่า การกราบเคารพพระรัตนตรัย ที่เรียกว่าการกราบเบญจางคประดิษฐ์ คือการกราบโดยที่ให้อวัยวะทั้ง 5 คือ เข่า 2 มือ 2 และหน้าผาก 1 จรดพื้น โดยถูกต้องตามจังหวะทั้งสาม อัญชลี วันทา อภิวาท เป็นอย่างไร

– รู้ว่า การกราบถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ที่ถูกต้องนั้นจะต้องหันเอียงลำตัวเข้าหาพระพักตร์ ด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยต่อพระองค์ แล้วจึงวางแขนซ้ายลงกับพื้นก่อน ค่อยวางแขนขวาลงแนบพร้อมกับก้มศรีษะลงบนมือที่พนมไว้

– รู้ว่า สติ คือการกำหนดอริยาบทและรับรู้ความรู้สึกทางประสาทสัมผัสทั้ง 6 ให้ทันปัจจุบันสม่ำเสมอ

– รู้ว่า การมีสติระลึกรู้ตามเท่าทันปัจจุบัน ในทางปฏิบัติแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย

– รู้ว่า สติ ต่างจาก สมาธิ นั่นคือ สติ เป็นการกำหนดรู้พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงให้ทันปัจจุบัน ในขณะที่ สมาธิ คือการเพ่งจิตไปที่สิ่งเดียวอย่างแน่วแน่ ซึ่งหากมีสมาธิมากเกินไปก็จะขาดการระลึกรู้นั่นก็คือขาดสติ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่สมาธิ แต่คือการเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญา อย่างเช่นลูกโยคีท่านหนึ่งเล่าว่าทำสมาธิในการสวดมนต์ระหว่างขับรถจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ นั่นก็เพราะว่าการมีสมาธิเป็นการเพ่งจิตไปที่การสวดมนต์ ทำให้เกิดความสงบและนำไปสู่การขาดสติ ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตไม่ใช่การสร้างให้เกิดสมาธิเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีสติและสมาธิอย่างสมดุล

– รู้ว่า แท้จริงแล้ว เราไม่รู้ตัวในขณะที่เราโกรธ… เพราะหากเรามีสติรู้ตัวว่าโกรธเป็นอกุศลจิตแล้ว เราก็จะไม่มีความโกรธ นั่นหมายความว่า เมื่อไรที่เราโกรธแปลว่าเมื่อนั้นเราไม่รู้ตัว
 
– รู้ว่า ข้อห้ามมิให้สนทนาระหว่างลูกโยคี มีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเจริญสติ ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งและเกิดกิเลสไปตามบทสนทนาที่ได้รับรู้

– รู้ว่า การใส่ชุดสีขาว ไม่ใช่แค่หมายถึงความบริสุทธิ์ แต่มันเป็นเหตุผลง่ายๆ ทางจิตวิทยา ที่ถ้าหากใส่เสื้อที่มีสีสันต่างกัน หรือมีลวดลาย จะชักจูงให้จิตคิดไปตามสิ่งที่เห็น อย่างที่พิสูจน์ได้กับตัวเองในระหว่างการปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เมื่อมองไปเห็นลูกโยคีที่ใส่เสื้อขาวมีข้อความตัวอักษร ใจก็จะอ่านไปตามตัวอักษรนั้นทันที แม้กระทั่งเสื้อหนาวลายการ์ตูน ทันทีที่มองเห็น ใจก็เรียกชื่อตัวการ์ตูนนั้นขึ้นมา มิกกี้เม้าส์… หลุดแล้วหนอออ สติ

– รู้ว่า ข้าวทัพพีเดียวก็อิ่มได้จริง ไม่ใช่เหตุผลเพราะอิ่มบุญก็พาลให้อิ่มทิพย์ แต่เพราะนอกจากการพิจารณาอาหารจะเป็นการกำหนดอริยบทย่อยอย่างช้าเพื่อเจริญสติแล้ว การเคี้ยวอาหารช้าและละเอียด จะช่วยในเรื่องระบบทางเดินอาหารและทำให้สมองสั่งการให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นอีกด้วย อันนี้เป็นประโยชน์สำหรับสาวที่ต้องการลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี

– รู้ว่า การปฎิบัติวิปัสสนาทำให้ผิวพรรณผ่องใส (และไร้สิว) ในทางธรรมอาจจะให้เหตุผลว่าเพราะผลบุญจากการปฎิบัติวิปัสสนา แต่ในทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อเราเจริญสติระลึกรู้อยู่แต่กับปัจจุบัน ทำให้จิตปลอดโปร่งไม่ฟุ้งซ่านหรืออาฆาตมาดร้าย ไม่ก่อให้เกิดความเครียด และการรับประทานแต่อาหารมังสวิรัติ ไม่มีไขมันจากเนื้อสัตว์ที่มีส่วนในการทำให้เกิดสิว เป็นเหตุให้จิตสะอาด กายสะอาด ผิวพรรณก็สดใสตามมา

– รู้ว่า การไหว้พระเก้าวัด หากไม่ได้กระทำด้วยสติและความตั้งมั่น ก็ยังเทียบไม่ได้กับการกราบไหว้อย่างมีสติและความตั้งมั่นในวัดเพียงแห่งเดียว

– รู้ว่า การขอพร เป็นการแสดงออกซึ่งกิเลส นั่นก็คือ ความโลภ ความอยากได้ อยากมี แท้จริงแล้วการกราบเคารพพระรัตนตรัย ควรกระทำด้วยการเจริญสติ ทำสมาธิ สวดมนต์ ภาวนา และรักษาศีล

008.jpg picture by jade_ornament

– รู้ว่า การประพฤติตัวเป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ไม่ครบถ้วนในการเสริมสร้างผลบุญ จึงต้องหมั่นเจริญสติกำหนดอริยาบทย่อย ทำสมาธิ สวดมนต์และรักษาศีล ด้วย

– รู้ว่า ในขณะที่เรากำหนดอริยาบทต่างๆ นั่ง เดิน ยืน ยุบ พอง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตามปัจจุบันที่เรารู้สึก เป็นการรักษาศีล เนื่องจากในทุกขณะที่เรากำหนด เรามิได้ประพฤติผิดศีลข้อใดเลย ไม่ว่าสุราเมรัย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผิดในกาม หรือแม้แต่พูดปด

– รู้ว่า การมีเพศสัมพันธ์กับแฟนก่อนแต่งงาน ถือเป็นการผิดศีลเช่นกัน เนื่องจากเป็นการประพฤติผิดต่อผู้มีเจ้าของ ซึ่งเจ้าของในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ สามีหรือภรรยาเท่านั้น แต่บิดามารดาก็ถือเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน

– รู้ว่า ไม่ควรบนบาลศาลกล่าวด้วยปูต้ม (ข้อนี้…สำหรับผู้ที่ได้เข้าร่วมวิปัสสนาในคอร์สนี้จึงจะเข้าใจกันเอง)

– รู้ว่า ควรพิจารณาให้ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อเพื่อเสริมดวงว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ หากการเปลี่ยนชื่อเป็นการเสริมดวงให้ดีขึ้นได้ หมายความว่าบางทีชื่อนั้นอาจจะทำให้ดวงในด้านอื่นแย่ลงก็เป็นได้เช่นกัน บางทีหลังจากบุคคลเปลี่ยนชื่อแล้วโชคดีขึ้น อาจจะเป็นเพราะจังหวะของช่วงชีวิตหรือไม่ จงพิจารณาต่อไปว่าบุคคลผู้นั้นสมควรต้องได้รับแต่สิ่งที่ดีตลอดชีวิต โดยไม่เผชิญกับโชคร้ายเลย หากชื่อนั้นสามารถเสริมดวงได้แท้จริง

– รู้ว่า ผู้ที่มากระทำกรรมเลวต่อเราในชาตินี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เราเคยทำกรรมเลวต่อเขาในชาติก่อนเสมอไป เนื่องจากบางทีผู้ที่กระทำกรรมเลวต่อเราในชาตินี้ อาจจะเป็นเพียงคนกลางที่นำเอากรรมเลวที่เราได้เคยกระทำต่อผู้อื่นในชาติก่อนมาสนองต่อเราก็เป็นได้ ฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติกรรมเลวต่อเรานี้ก็จะเวียนอยู่ในบ่วงแห่งกรรมต่อไป และหากเราพยาบาทเคียดแค้นและกระทำกรรมเลวคืนกลับไป ตัวเราเองก็จะต้องวนเวียนอยู่ในบ่วงกรรมนั้นเช่นเดียวกัน

– รู้ว่า พระในบ้าน หมายถึง บิดามารดาผู้ให้กำเนิด เป็นพระที่สมควรแก่การเคารพบูชามากที่สุดเป็นลำดับแรก จึงควรที่จะเคารพบูชาพระในบ้านอย่างถูกต้องสมควรก่อนที่คิดจะกราบไหว้บูชาพระนอกบ้าน

– รู้ว่า กรรมเลว ถูกลบล้างหรือทดแทนด้วยการทำกรรมดีไม่ได้ เพียงแต่การสะสมกรรมดีอาจจะช่วยให้ผลตอบสนองแห่งกรรมเลวนั้นช้าถอยร่นไป ซึ่งพระอาจารย์ได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจด้วยการยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพชัดเจนว่า เปรียบกรรมเลวเป็นรถสีดำและกรรมดีเป็นรถสีขาว หากเราสะสมกรรมดีเพิ่มมากขึ้น รถคันสีขาวก็จะแล่นไปข้างหน้า และเมื่อเราหันหลังกลับมามอง เราจะยังคงมองเห็นรถสีดำนั้นอยู่เพียงแต่จะอยู่ไกลออกไป ครั้นหากเรากระทำกรรมดีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราหันหลังกลับมามองรถสีดำก็จะมองเห็นอยู่ไกลออกไปอีกหรืออาจจะมองไม่เห็นเลย แต่แท้จริงแล้วรถคันสีดำนั้นยังคงอยู่มิได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกทำให้ถอยร่นไป และหากเราหยุดกระทำกรรมดีเมื่อใด รถคันสีดำนั้นก็จะกลับมาให้เราเห็นเด่นชัดเมื่อนั้น

– รู้ว่า การทำกรรมเลวต่อบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ไม่เหมือนกับการทำกรรมเลวอื่นๆ เนื่องจากการทำกรรมเลวต่อพระในบ้านนี้ จะเป็นรถสีดำที่เราไม่มีวันแซงหนีไปไหนได้พ้น แต่มันจะวิ่งขนานไปด้วยกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะผ่านพ้นไปกี่ชาติ ก็จะต้องได้รับผลกรรมจากการกระทำนั้นในท้ายที่สุด

– รู้ว่า การไปปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน ไม่ได้หมายถึง ต้องไปนั่งสมาธิกลางลานใต้ร่มไม้ นอนเป็นแถวยาวกลางศาลา หรืออาบน้ำจากตุ่มเสมอไป แต่การนั่งสมาธิบนอาสนะโดยมีเครื่องปรับอากาศให้ความเย็น นอนบนฟูก อาบน้ำอุ่น  กินอยู่สบาย ก็สามารถเจริญสติและเกิดความเข้าใจในพุทธศาสนาได้เช่นกัน 

009.jpg picture by jade_ornament 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของคำตอบในสิ่งที่เคยสงสัยใคร่รู้ เป็นสิ่งที่เกิดจากการจากรับรู้และเข้าใจเท่าที่คนห่างไกลจากพระธรรมคำสอนคนนึงจะพอจับใจความและระลึกได้ในขณะนี้ และแท้จริงแล้วการที่ได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเข้าวัดถือศีลหรือฟังธรรมเพื่อเป็นการทำความรู้จักกับคำว่า “บุญ” เท่านั้น หากแต่สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์จริง โดยการเพียรฝึกปฏิบัติให้เกิดสมาธิ สติ และปัญญา ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เนื่องจากเมื่อเจริญสติกำหนดรู้ให้ต่อเนื่องกัน จิตจะสงบ ลดความฟุ้งซ่าน เกิดความรู้ถูกรู้ผิด และก่อให้เกิดปัญญา รู้หนทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีสติ… อย่างไรก็ตามความสงบและสติที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ภายในจิตของตนเอง โดยที่ตัวเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะรับรู้ในความแตกต่างภายในจิตของตัวเองระหว่างก่อนและหลังการปฏิบัติฯ นี้ได้ และนี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายให้เข้าใจได้ด้วยตัวอักษรหรือคำพูด หากแต่ต้องเข้ามาทดสอบด้วยตัวเองเท่านั้น…

ขอกุศลศีลทานทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้เคยบำเพ็ญมาจากอดีตจนปัจจุบัน รวมถึงจากที่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ จงส่งผลกุศลบุญไปยังบิดามารดา ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ มนุษย์ทุกผู้ สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เทพยดา พระภูมิเจ้าที่ ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ให้ได้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเทอญ

010.jpg picture by jade_ornament

 

Comments
  1. Kurkull says:

    เข้ามาฮา ปูต้ม 
    อนุโมทนา สาธุ

  2. Kurkull says:

    โคตรละเอียดเลยมึง นี่ขนาดไปครั้งแรกนะเนี่ย ถ้าไปกับกูเดือนมกราอีกทีคงบรรลุ อิอิ

  3. Intira says:

    อนุโมทนา สาธุ คราวหน้าขอไปด้วยคนนะจ๊ะ

Leave a comment